
เคยได้ยินหรือไม่ว่า… อย่าอ่านหนังสือในที่แสงน้อย เพราะจะทำให้สายตาเสีย
เนื่องด้วยแสงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่จะช่วยมอบแสงสว่าง ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น ประโยชน์ของแสงสว่างไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โทนของแสงยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไปได้อีกด้วย ทั้งนี้ แสงที่ดีต้องไม่ใช่เพียงแสงที่ให้ความสว่างเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายตาและสามารถมองเห็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย ด้วยเหตุนี้ การออกแบบระบบแสงสว่าง (Lighting Design) จึงมีมาเพื่อออกแบบแสงสว่างในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การออกแบบระบบแสงสว่างสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณภาพสำหรับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งพื้นที่กลางแจ้ง เช่น สวนสาธารณะหรือถนนในเมือง ระบบแสงสว่างที่ดีจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานหรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งยังมีผลต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การประหยัดค่าใช้จ่าย และการเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจอีกด้วย ในบทความนี้ เราจึงอยากพามาสำรวจการออกแบบระบบแสงสว่างในเชิงลึกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความหมายหรือประเภทของการออกแบบระบบแสงสว่าง ตลอดจนมาตรฐาน ไปจนถึงวิธีการออกแบบระบบแสงสว่างในเบื้องต้น พร้อมแล้วไปสำรวจกันเลย
ความหมายและความสำคัญของการออกแบบระบบแสงสว่าง

การออกแบบระบบแสงสว่าง (Lighting Design) คือวิธีการคำนวณ วางแผน เพื่อหาค่าความส่องสว่างที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งการออกแบบระบบแสงสว่างไม่ได้มีเพียงแค่การคำนวณความสว่างจากแหล่งกำเนิดแสงเท่านั้น แต่จะต้องคำนวณควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลของการสะท้อนของแสงไปยังพื้น ผนัง เพดาน โทนสีที่ใช้ก็ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานแสงสว่างในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งยังมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงและคำนวณให้รอบด้าน การออกแบบระบบแสงสว่างจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบระบบไฟฟ้าและจะมีการออกแบบเป็นลำดับแรกเสมอ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การทำงานในที่แสงน้อยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างความปลอดภัย และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ประเภทของการออกแบบระบบแสงสว่าง
การออกแบบระบบแสงสว่างแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคาร และการออกแบบระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร
การออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคาร

การออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคาร คือ การเน้นให้แสงสว่างที่เหมาะสมและปรับได้ในทุกพื้นที่ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสํานักงาน อาคารพาณิชย์ หรืออาคารอุตสาหกรรม เพื่อให้มีแสงที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับแต่ละห้อง และเพื่อให้การทำงานหรือการทำกิจกรรมในอาคารนั้นๆ สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การให้แสงสว่างสำหรับการทำงานในห้องประชุมหรือการให้แสงสว่างอันอบอุ่นในห้องพัก
การออกแบบระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร

การออกแบบระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร คือ การให้แสงสว่างที่สอดคล้องและเป็นไปตามสภาพแวดล้อมภายนอก โดยจะเน้นไปที่การประดับประดาหรือการสร้างจุดเด่นแก่สถาปัตยกรรมของอาคาร เช่น การใช้แสงสว่างเพื่อเชิดชูลักษณะเด่นของการออกแบบอาคารในยามค่ำคืน หรือการใช้แสงสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่พื้นที่สวนหน้าบ้าน
ระบบส่องสว่าง

การออกแบบระบบแสงสว่างที่ดีต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลต่อแสงสว่างอย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบส่องสว่างสามารถแบ่งออกได้ 2 ระบบ ดังนี้
ระบบการให้แสงสว่างหลัก (Primary Lighting System)
ระบบการให้แสงสว่างหลักคือการออกแบบแสงสว่างให้มีความส่องสว่างเพียงพอตามมาตรฐานเพื่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ
1. การให้แสงสว่างทั่วพื้นที่ (General Lighting)
การให้แสงสว่างทั่วพื้นที่คือแสงสว่างที่มาจากโคมไฟที่ติดตั้งอย่างกระจัดกระจายบนเพดานอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นวิธีการให้แสงสว่างที่ได้รับความนิยมและพบเห็นได้ทั่วไป ข้อดีคือสามารถออกแบบได้ง่ายเพราะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องตำแหน่งทำงาน แต่มีข้อเสียคือสิ้นเปลืองพลังงานสูง การให้แสงสว่างด้วยวิธีนี้มักพบเห็นได้ในการออกแบบแสงสว่างสำหรับทางเดิน ห้องทำงานหรือห้องเรียนที่มีโต๊ะวางอยู่ทั่วห้อง
2. การให้แสงสว่างเฉพาะที่ (Local Lighting)
การให้แสงสว่างเฉพาะที่คือการออกแบบโดยการให้แสงสว่างเสริมให้พื้นที่นั้นๆ สว่างเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเน้นให้แสงสว่างเฉพาะตำแหน่งและทิศทางที่ต้องการ เช่น โคมไฟเหนือโต๊ะทำงาน ซึ่งการออกแบบประเภทนี้จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากเพราะเป็นการควบคุมความสว่างเฉพาะที่
3. การให้แสงสว่างทั่วพื้นที่และเฉพาะที่ (General and Local Lighting)
การให้แสงสว่างทั่วพื้นที่และเฉพาะที่คือวิธีการผสมผสานการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานในแต่ละพื้นที่ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างแสงสว่างทั่วพื้นที่และแสงสว่างเฉพาะตำแหน่ง จึงประหยัดพลังงานกว่าการให้แสงสว่างทั่วพื้นที่ เหมาะสำหรับใช้กับพื้นที่สำนักงาน โรงแรม เป็นต้น
ระบบการให้แสงสว่างรอง (Secondary Lighting System)

ระบบการให้แสงสว่างรองคือการออกแบบแสงสว่างเพื่อความสวยงาม ความสบายตา หรือเพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกสำหรับพื้นที่นั้น ซึ่งประกอบไปด้วย
1. แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting)
แสงสว่างแบบส่องเน้นคือแสงสว่างที่ใช้เพื่อให้วัตถุสิ่งของหรือพื้นที่หนึ่งโดดเด่นขึ้นมา ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ที่พบเห็น เช่น การให้แสงสว่างไปที่ผลงานการออกแบบชิ้นหนึ่งเพื่อให้ผลงานนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเราสามารถใช้โคมไฟ Track Light หรือ Spot Light สำหรับแสงสว่างประเภทนี้ได้เพราะเป็นโคมไฟที่ให้แสงที่พุ่งตรง เน้นความสว่างเฉพาะจุด และช่วยเน้นวัตถุให้มีความโดดเด่นขึ้นกว่าจุดอื่น ๆ
2. แสงสว่างแบบเอฟเฟค (Effect Lighting)
แสงสว่างแบบเอฟเฟคสร้างขึ้นเพื่อสร้างอารมณ์หรือบรรยากาศภายในห้อง เช่น แสงเอฟเฟคที่ใช้ในงานเฉลิมฉลองหรือการเล่นแสงสีในร้านค้าหรือคลับ รวมถึงแสงภายนอกอาคาร แสงว่างแบบเอฟเฟคทั่วไปตามที่เห็นจะเป็นแสงไฟประเภท Facade ซึ่งจะช่วยเพิ่มสีสันและเน้นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
3. แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting)
แสงสว่างตกแต่งคือแสงสว่างที่ใช้สำหรับการตกแต่งห้อง ช่วยเสริมความงดงามน่าอยู่ภายในห้อง โดยมักมาพร้อมกับโคมไฟหรูหราหรือชิ้นงานทันสมัย ทำหน้าที่สร้างจุดสนใจภายในห้อง โดยอาจจะมีการผสมผสานแสงสว่างแบบตกแต่งควบคู่ไปกับเทคนิค Indirect Light ในการออกแบบด้วย
4. แสงสว่างงานสถาปัตย์ (Architectural Lighting)
แสงสว่างงานสถาปัตย์วางแผนและติดตั้งเพื่อเน้นให้แสงสว่างไปที่การออกแบบและโครงสร้างของอาคาร จุดประสงค์ของแสงสว่างงานสถาปัตย์คือการสร้างลักษณะเด่นของอาคารและสร้างความสว่างที่เหมาะสมในพื้นที่ เช่น การให้แสงไฟจากหลืบ การให้แสงจากบังตา หรือการให้แสงจากที่ซ่อนหลอด
5. แสงสว่างตามอารมณ์ (Mood Lighting)
แสงสว่างตามอารมณ์ออกแบบมาเพื่อสร้างบรรยากาศหรืออารมณ์ภายในห้องตามที่เราต้องการ เช่น การใช้แสงสีอ่อนในห้องพักเพื่อสร้างความสงบสุขและผ่อนคลาย อีกหนึ่งเคล็ดลับคือการเลือกใช้ Dimmer Switch ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับปรับลดระดับความสว่างของหลอดไฟให้เป็นไปตามต้องการ Dimmer Switch จะช่วยสร้างบรรยากาศของแสงให้ได้ระดับความส่องสว่างตามการใช้งานในแต่ละห้องดังที่คุณปราถนาได้
มาตรฐานของระบบแสงสว่าง

สิ่งที่ขาดไม่ได้ของการออกแบบแสงสว่าง คือ จะต้องออกแบบให้มีระดับความส่องสว่างสอดคล้องกับมาตรฐานและไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด สำหรับประเทศไทย มาตรฐานกำหนดค่าความส่องสว่างขั้นต่ำที่ได้รับการยอมรับในทางวิศวกรรมสำหรับพื้นที่ใช้งานแต่ละประเภท คือ “มาตรฐานจากสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย” หรือ TIEA ซึ่งมาตรฐาน TIEA นี้ได้อ้างอิงตามมาตรฐานสากลของ CIE (Commission International del’ Eclairage)
วิธีการคํานวณแสงสว่าง

การออกแบบระบบแสงสว่างต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความสว่างที่เหมาะสมในพื้นที่ที่จะใช้งาน เพื่อสร้างระบบแสงสว่างที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานพร้อมไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ โดยวิธีการคํานวณแสงสว่างในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
วิธีการคำนวณแบบลูเมนท์ (Lumen Method)
วิธีการคำนวณแบบลูเมนท์ คือ การคำนวณค่าปริมาณความส่องสว่างทั้งหมดของห้องตามมาตรฐาน IES (Illumination Engineering Society) เพื่อหาปริมาณจำนวนดวงโคมที่ต้องติดตั้งภายในห้องนั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยๆ ได้ดังนี้
1. Zonel Cavity Method
Zonel Cavity Method คือการคำนวณค่าฟลักซ์ส่องสว่างรวมของห้องจากหลายตัวแปร นั่นก็คือ ค่าปริมาณความส่องสว่างตามมาตรฐานซึ่งมีหน่วยเป็นลักซ์ (LUX) พื้นที่ห้อง ค่าสัมประสิทธิ์การใช้ประโยชน์ ค่าความเสื่อมของหลอดไฟ และค่าความเสื่อมจากความสกปรกของดวงโคม เพื่อนำมาคำนวณหาปริมาณหลอดไฟหรือโคมไฟสำหรับห้องที่ต้องการจะออกแบบ
2. Room Index Method
Room Index Method เป็นวิธีการคำนวณที่คล้ายกับวิธีแรก ซึ่งต่างกันตรงที่วิธีนี้จะเปลี่ยนตัวแปรจากค่าความเสื่อมมาเป็นค่าการบำรุงรักษา โดยผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นค่าฟลักซ์ส่องสว่างที่จะนำไปใช้คำนวณหาปริมาณหลอดไฟและโคมไฟที่ต้องใช้เช่นเดียวกัน
วิธีคำนวณแบบจุดต่อจุด (Point By Point Method)

วิธีคำนวณแบบจุดต่อจุด คือ การคำนวณหาความส่องสว่างทีละจุดๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งจะเน้นไปที่พื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งตัวแปรสำคัญสำหรับการคำนวณด้วยวิธีนี้คือ กราฟกระจายแสงของโคม เนื่องจากเป็นการคำนวณบนพื้นที่เล็กๆ แบบจุดใดจุดหนึ่งบนพื้นงาน ซึ่งกราฟกระจายแสงของโคมจะแสดงค่าความเข้มของแสงที่กระจายไปในแต่ละทิศแต่ละทางของหลอดหรือดวงโคมนั้นๆ นั่นเอง

เมื่อได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบระบบแสงสว่างจนถึงย่อหน้านี้ จะเห็นได้ว่า การออกแบบแสงสว่างค่อนข้างมีความซับซ้อนและอาศัยความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง เนื่องจากการออกแบบแสงสว่างไม่ได้คำนึงถึงเพียงในแง่ประสิทธิภาพและความสอดคล้องตามมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการออกแบบ การเลือกใช้แหล่งกำเนิดแสงหรือหลอดไฟที่ประหยัดพลังงาน แสงสว่างที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการบำรุงรักษา การออกแบบแสงสว่างด้วยตนเองจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การเลือกทีมออกแบบแสงสว่างมืออาชีพ มีความรู้และประสบการณ์ จึงถือเป็นทางออกที่จะช่วยให้เราสามารถเบาใจให้กับเรื่องนี้ไปได้อย่างแน่นอน
Lumencraft Lighting คือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบแสงสว่างในประเทศไทยที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์ด้านแสงสว่างอันหลากหลายและมีเอกลักษณ์ พร้อมด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน เรายังมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยเนรมิตให้แสงสว่างภายในพื้นที่ของคุณมีความเหมาะสม สวยงาม โดดเด่นไม่เหมือนใคร ติดต่อเราวันนี้เพื่อให้เราช่วยดูแลและเลือกแสงสว่างที่ตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการของคุณมากที่สุด